เลขาธิการ กพฐ. มอบสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ประมวลปัญหาการรับนักเรียนที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้าง เพื่อใช้ปรับปรุงเกณฑ์รับนักเรียนปี 63 ให้ดียิ่งขึ้น
วันนี้ (30 เม.ย.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังสรุปรวบรวมประเด็นปัญหาเรื่องการรับนักเรียนของปีการศึกษา 2562 ต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงการรับนักเรียนในปีการศึกษาหน้าให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการรับนักเรียนในปีการศึกษานี้ภาพรวมไม่พบการร้องเรียนเรื่องรับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกที่นั่งเรียนแต่อย่างใด โดยขณะนี้ตนได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาของสพฐ.ไปรวบรวมปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นของการรับนักเรียนในปีนี้ทั้งหมดว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่เป็นข้อขัดข้องทำให้การรับนักเรียนไม่ราบรื่นที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยต่อไป ทั้งนี้ประเด็นปัญหาที่ร้องเรียนมาถึงตนและได้แก้ไขปัญหาแล้วมีหลายประเด็น คือ มีคำถามว่ามีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่งที่มีนักเรียนระดับอนุบาล 3 จะเข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แต่โรงเรียนรองรับเด็กเข้าศึกษาต่อป.1 ไม่เพียงพอจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ได้ชี้แจงว่าเป็นสิทธิของเด็กที่จะต้องได้เรียนต่อชั้นป.1อัตโนมัติในโรงเรียนเดิม นอกจากนี้มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ปริมณฑลพบว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะเข้าเรียนต่อม.4 โรงเรียนเดิมแต่ห้องเรียนชั้นม.4 มีน้อยกว่าจำนวนรับโรงเรียนจึงตัดสิทธิเด็กเกินกว่าจะรับได้ออกไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้สพฐ.แจ้งให้เขตพื้นที่ดำเนินการแก้ไข โดยขออนุมัติจากคณะกรรมการรับนักเรียนระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน ให้เพิ่มห้องเรียนชั้นม.4 ห้องละ 5 คน และให้ขยายห้องเรียนรับเพิ่ม เพราะมองว่าเด็กที่จบ.ม.3 ขึ้นม.4 จะต้องได้รับสิทธิเรียนต่อ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยมีผู้ปกครองต้องการให้ตรวจสอบว่า เด็กในพื้นที่บริการที่มีสิทธิสอบทั้งหมดเป็นเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการจริงหรือไม่ โดยประเด็นนี้หากเราตรวจสอบพบเด็กไม่ใช่เด็กพื้นที่บริการก็ต้องจัดการ แต่จะจะจัดการอย่างไรเพราะเด็กเข้าเรียนไปแล้ว ดังนั้นต้องมีมีมาตรการเยียวยา ทั้งนี้นี้ต้องดูด้วยว่าเด็กในพื้นที่บริการอาจไม่เต็มโควตาก็ได้โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลอยู่ ซึ่งประเด็นของโรงเรียนสามเสนเป็นการทักท้วงในมาตรการเชิงบริหารและการตีความ ซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องเกณฑ์การรับนักเรียนจากทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง นักเรียนโรงเรียนดัง ครู เพื่อนำมาประมวลผลว่าเกณฑ์รับนักเรียนจุดไหนเป็นอุปสรรคต่อโอกาสทางการศึกษาบ้าง
“ส่วนกรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิ์ฯของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ไม่รับเด็ก 11 คนเข้าเรียนนั้น สพฐ.รับทราบแล้ว ซึ่งถือว่าคณะกรรมการตรวจสอบฯไม่ได้มีอำนาจที่จะไปตัดสิทธิเด็ก จากนี้ไปสพฐ.จะทำความเข้าใจกับโรงเรียนให้รับทราบว่า สพฐ.จะไม่ก้าวก่ายโรงเรียนหรือคณะกรรมการรับนักเรียนในการรับนักเรียน ซึ่งเรามีหลักคิดในการรับนักเรียน คือ การศึกษาเป็นสิทธิของคนไทยในวัยเรียนทุกคน เพราะไม่อยากให้สังคมมองว่า สพฐ.เป็นคู่ความกับนักเรียนหรือผู้ปกครอง ดังนั้นหลักเกณฑ์การรับนักเรียนต่างๆจะต้องเป็นธรรมไม่ริดรอนสิทธิคนอื่น” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ : https://www.dailynews.co.th/education/706705