ศธ.พบตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนเป็นแสน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เวลา 16.20 น. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประมวลผลฐานข้อมูลนักเรียนจากตัวเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของศูนย์เทคโนโยลีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ.เบื้องต้นพบว่า ล่าสุดภาคเรียนที่ 2/2560 (10 พ.ย.60) มีตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนในสถานศึกษาทั้งภายในสังกัดเดียวกันและต่างสังกัด จำนวน 117,431 คน โดยเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อายุ 3-18 ปี ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ซ้ำซ้อนกับในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) 16,840 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) 35,328 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) 18,329 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ในส่วนของโรงเรียนสาธิต 283 คน ขณะที่ สช.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน 67 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ กศน. 2,753 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ สอศ. 680 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ สกอ. 476 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับ กศน.เอง 633 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับ สอศ. 37,824 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับ สกอ.30 คน สอศ.ซ้ำซ้อนกับ สอศ. 4,166 คน สอศ.ซ้ำซ้อนกับสกอ.9 คน และ สกอ.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษา สกอ.13 คน ทั้งนี้ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมนักเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังรายงานมาไม่ครบ

ปลัดศธ.กล่าวว่า จากการตรวจพบดังกล่าว ตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมและได้มอบรายชื่อเด็กและชื่อโรงเรียนที่ซ้ำซ้อนให้ไปตรวจสอบอีกครั้ง และให้ยืนยันว่าเด็กมีตัวตนในสถานศึกษาใด รวมถึงให้ดูเรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัว เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาด้วย เพื่อตรวจสอบว่าเบิกจ่ายกันอย่างไร โดยไม่ได้มุ่งเป้าว่าโรงเรียนทุจริต เพราะเป็นไปได้ว่ามีการตั้งเบิก แต่ไม่มีเด็ก เงินก็จะคงค้างในระบบ หรืออาจเอาเงินไปทำกิจกรรมนักเรียน หรือค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

“ศธ.ได้ปรับระบบการรายงานข้อมูลนักเรียนใหม่ โดยให้ทุกสถานศึกษาโยนข้อมูลมาที่ถังกลาง หรือ ฐานข้อมูลกลาง ของ ศธ.เพื่อจะได้ตรวจสอบในทันทีเมื่อรับนักเรียนเสร็จสิ้น และตรวจสอบซ้ำในภาคเรียนที่ 2 โดยภาคเรียนแรกของปีจะให้รายงานให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน และภาคเรียนที่ 2 ภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักซ้ำกันตัวแดงจะขึ้นมา ก็จะรู้ทันที่ว่ามีการซ้ำซ้อนเกิดขึ้น ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และต่อไปการของบประมาณจะต้องยึดข้อมูลกลางจากฐานข้อมูลเดียว แต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างส่งข้อมูลใส่ถังของตัวเอง กว่าจะเจอว่าซ้ำซ้อนก็ล่าช้าไปมากแล้ว และขณะนี้ถังข้อมูลกลางก็วางระบบไว้พร้อมที่จะรับข้อมูลแล้ว” นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

เครดิตข่าว : เว็บไซต์เดลินิวส์