วันที่ 5 มี.ค. 2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 โดยเปลี่ยนเป็นกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ซึ่งจะเป็นการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ คือ ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดกลไกการปฏิบัติที่เอื้อต่อการดำเนินการตามาตรฐานการศึกษาของแต่ละระดับและเกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น ที่ประชุมได้วางโรดแมปการขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาตามกฎกระทรวงเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาฉบับใหม่ โดยระบบการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่จะทำให้เกิดการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง และจะทำให้สังคมเลิกข้อถกเถียงสักทีว่าการประกันคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาเน้นแต่การประเมินด้วยเอกสารไม่ได้ยึดหลักตามบริบทของโรงเรียน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในเดือนก.ย.ปี 2561 จะมีสถานศึกษาจำนวนหนึ่งของทุกสังกัดทุกประเภทเข้าสู่กระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ ได้วางแผนจัดทำโรดแมป คือ เดือนมี.ค.ปรับปรุงมาตรฐานแต่ละระดับและแต่ละประเภทการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ จะลงนามในประกาศกฎกระทรวง เรื่องมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับแต่ละประเภทในเร็วๆนี้ และเดือนเม.ย.ศธ.จะสร้างความรับรู้และความเข้าใจแต่ละสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ ส่วนเดือน พ.ค.สถานศึกษาทุกแห่งจะเข้าสู่กระบวนการของการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่กำหนดมาตรฐานของสถานศึกษาตัวเองและทำแผนพัฒนาการศึกษา ดำเนินการตรวจสอบติดตาม นอกจากนี้ที่ประชุมยังวางแผนว่า เดือนส.ค. จะมีสถานศึกษารุ่นแรกที่จะเข้าสู่การประกันคุณภาพการศึกษารอบที่ 1 กว่า 1,000 แห่ง ต่อจากนั้นในเดือน ก.ย. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) จะเข้ามาประเมินติดตามและตรวจสอบตามแนวทางของกฎกระทรวงฉบับใหม่ต่อไป ทั้งนี้ในเดือนต.ค.จะอยู่ในช่วงของการทบทวนติดตามการประกันคุณภาพการศึกษาแบบใหม่ว่าจะมีสิ่งใดยังต้องปรับปรุงหรือไม่
“ต่อไปการประเมินสถานศึกษาจะไม่มีมาตรฐานที่กำหนดจาก สมศ. แต่จะมีเพียงมาตรฐานกลางจากศธ.ที่จะแยกประเภทสถานศึกษาตั้งแต่การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่ง รมว.ศธ.จะประกาศมาตรฐานกลางในเร็วๆนี้ ต่อจากนั้นโรงเรียนจะกำหนดมาตรฐานสถานศึกษาของตัวเองและรายงานขึ้นมายังส่วนกลาง ซึ่งนับได้ว่ากฎกระทรวงฉบับใหม่ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการคืนความสุขคลายทุกข์ให้แก่โรงเรียนอย่างแท้จริง” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว
เครดิตข่าว : เว็บไซต์เดลินิวส์