สกศ.เร่งทำบิ๊กดาต้าการศึกษาไทย

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ทุกกระทรวงดำเนินการจัดทำฐานข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า และใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน นั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. และ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ได้มอบให้ สกศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการจัดทำบิ๊กดาต้าการศึกษา ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.จรัส ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดว่า ระยะแรกจะเน้นเรื่องการจัดการข้อมูลผู้เรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศไทยที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลของ ศธ.เท่านั้น โดยจะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นจะมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูล เพื่อดูว่า เด็กได้เข้าเรียนครบถ้วนหรือไม่ ตกหล่นที่ไหน อย่างไร โดยเทียบเคียงกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำเรื่องนี้มาก่อน

“จากรายงานสารสนเทศทางการศึกษา ปีการศึกษา 2560 รวมทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษา ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 10 มิ.ย.2560 ระบุว่า ภาพรวมระดับประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกสังกัด ศธ. มีผู้เข้ารับการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)ทั้งสิ้น 10,774,820 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 1,831,893 คน เป็น คนไทย 1,784,066คน ไม่ใช่คนไทย 47,827คน ประถมศึกษา 4,733,416คน เป็น คนไทย 4,605,936คน ไม่ใช่คนไทย 127,480คน มัธยมศึกษาตอนต้น 2,307,284คน เป็น คนไทย 2,275,903คน ไม่ใช่คนไทย 31,381คน และมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. 1,902,227คน เป็น คนไทย 1,887,850คน ไม่ใช่คนไทย 14,377คน โดยข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)”เลขาธิการ สกศ.กล่าว

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สกศ.จะนำข้อมูลภาพรวมบิ๊กดาต้าที่มีอยู่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด และจะดูไปถึงกลุ่มพื้นที่พิเศษ และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้เรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นต้น โดยจะเน้นในตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติ กับ ตัวชี้วัดสากลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งจะสะท้อนทั้งในเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางการศึกษา คุณภาพการศึกษา ประสทธิภาพการศึกษา ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายภาค รายจังหวัด รายพื้นที่ และรายกลุ่มแล้ว จะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาการศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น

อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/608685

เครดิตข่าว : เดลินิวส์